สำนักพิมพ์มิรอาต

ขอต้อนรับมิตรรักนักอ่านทุกท่านค่ะ

ปฏิสัมพันธ์อย่างไรจับใจมวลชน (ฉบับผู้ศรัทธา)

1922326_622994291116225_1248685052_n

021 | ปฏิสัมพันธ์อย่างไรจับใจมวลชน (ฉบับผู้ศรัทธา)
เขียน | ดร อับดุลลอฮฺ อัลคอฏิร
แปล | อ ยูซุฟ อบูบักรฺ
56 หน้า ราคา 60 บาท

คำนำสำนักพิมพ์

เคยคุยกันในกองบรรณาธิการเกี่ยวกับเรื่องหมวดหมู่หนังสือที่เราอยากจะเห็นในวงการหนังสือมุสลิม หนึ่งในคำตอบที่ได้รับในวันนั้น คือหนังสือหมวดจิตวิทยาและการพัฒนาตนเองที่นำเสนอในเชิงฮาวทู

ไม่นานหลังจากที่การพูดคุยครั้งนั้นจบลง สำนักพิมพ์มิรอาตก็ได้รับต้นฉบับหนังสือในหมวดที่ฝันไว้ว่าอยากเห็นอยู่ในชั้นหนังสือมุสลิมไทยจากท่านอาจารย์ยูสุฟ อบูบักรพอดี อันเป็นที่มาของหนังสือเชิงฮาวทูเล่มกะทัดรัดเล่มนี้

เคยมีอุสตาซ (ภาษาอาหรับ แปลว่าอาจารย์) ท่านหนึ่งบอกไว้ว่า ทุกวันนี้มุสลิมเรามีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มากมาย ในพื้นที่หนึ่งเรามีมุสลิมที่เป็นหมอนับพัน มีมุสลิมที่เป็นวิศวกรนับหมื่น มีมุสลิมที่จบปริญญาสาขาต่างๆ นับแสน แต่เรากลับหามุสลิมที่เป็นพ่อแม่คนเป็นจริงๆ ได้ไม่กี่คน หามุสลิมที่เป็นลูกให้เป็นยิ่งแทบไม่ได้
ยิ่งเราเรียนรู้ศาสตร์เฉพาะทางมากขึ้นเท่าไหร่ ดูเหมือนว่าเราจะสูญเสียศาสตร์ธรรมดาที่ควรจะมีอยู่ในตัวเรา ที่เราเรียกว่า สามัญสำนึก ในเรื่องต่างๆ ไปพร้อมๆ กันเท่านั้น

เช่นเดียวกับสามัญสำนึกในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

หากดูเผินๆ หนังสือเล่มนี้อาจไม่ใช่หนังสือที่นำเสนอเนื้อหาอะไรแปลกใหม่เป็นพิเศษ เป็นเพียงหนังสือที่นำเสนอเรื่องสามัญธรรมดาในชีวิต แต่เป็นความธรรมดาที่ในยุคเราทุกวันนี้ค่อยๆ สูญหายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นเรื่องพิเศษขึ้นมาอีกครั้งเมื่อมีใครในสังคมนำเสนอมันขึ้นมา

เป็นเรื่อง “ธรรมดา” ที่สำคัญ แต่เราก็ “ลืม” มันอยู่เป็นนิจ

นั่นคือการหันไปมองและเอาใจใส่กับหัวใจของคนรอบข้างบ้าง ไม่ใช่สนใจแต่หัวใจของตัวเราเอง

สำนักพิมพ์มิรอาต
มกราคม 2557 | เศาะฟัร 1435

……………………….

คำทักทาย
(คำนำผู้แปล)

ผมดีใจที่ได้อ่านนวนิยายเรื่อง อำนาจ โดยประภัสสร เสวิกุล เป็นผู้เขียน และยิ่งทวีความดีใจเมื่อมาได้อ่านหนังสือเล่มที่กำลังอยู่ในมือของท่าน ความรู้สึกที่ประสบในห้วงความนึกคิดของผมคือ เสียใจเล็กน้อยที่ได้อ่านช้าไป…ประหนึ่งดั่งกับว่า ช้าไปที่ได้เสี้ยมสอนตน

ขึ้นไปอยู่ ณ ที่ที่หนึ่งอย่างไร้ตรรกะและปรัชญา ปราศจากศาสตร์และศิลป์ ความรู้ก็พอมี หากแต่ความตระหนักดั่งกลีบเมฆ มิได้นำมาปฏิบัติหรือฝึกฝนอย่างจริงจัง แต่ส่วนลึกก็ยังมีความดีใจประพรมความรู้สึกอยู่มิใช่น้อยที่ได้อ่านหลังจากสิ้นสุดภารกิจ (อะมานะฮฺ) บางอย่างที่คิดว่ายิ่งใหญ่

ทำให้ความเข้าใจบางเรื่องราวกระจ่างขึ้น มองเห็นตนเองในรูปลักษณ์ที่ชัดเจนขึ้น เข้าใจและรู้แจ้งขึ้นในลักษณะที่เพื่อนร่วมงานแสดงออกกับเรา ได้เรียนรู้ถึงความหนักอึ้งของหัวโขนที่สวมใส่ เข้าใจความหนาวยะเยือกของลมหนาวแห่งอากาศเบื้องบน…การตลบตะแลงแกล้งแสดงสีหน้าของผู้คนร่วมสังคม
ขอชูโกรต่อพระผู้สร้างที่ได้มอบพลังให้กับผมจนสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มศักยภาพ (ส่วนผลลัพธ์นั้นอยู่ที่อัลลอฮฺ)

ณ วันนี้ หัวโขนถูกถอดออกไป มาเดินย่ำฝุ่น ณ เบื้องล่างเยี่ยงปุถุชน…ดั่งคนเดิม

“ท่านเราะสูลุลลอฮฺ คือ แบบอย่างของเรา”
มั่นใจและเลือกแปลหนังสือเล่มนี้อย่างตั้งใจแด่ท่านผู้อ่าน หวังให้เกิดประโยชน์และเกิดศิริมงคลในการดำเนินชีวิต สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมอย่างมีเกียรติ อินชาอัลลอฮุตะอาลา

ด้วยเกียรติแห่งมิตรภาพ

ยูซุฟ  อบูบักรฺ

……………………………..

มีอะไรในเล่ม

1. เรียกขานผู้อื่นด้วยชื่อที่ดีงาม
2. เอาใจใส่ในเรื่องของคนอื่น
3. แสดงมิตรไมตรีด้วยการให้ของขวัญ
4. ให้เกียรติผู้อื่นด้วยการกล่าวชมเชยและขอคำปรึกษาหารือจากเขา
5. รู้จักกล่าวขอบคุณและดุอาอ์ให้แก่พี่น้อง
6. ไม่เพิกเฉยในความสามารถพิเศษของผู้คน
7. อย่ายึดติดว่าตัวเองดีเพียงคนเดียว
8. จงเป็นคนถ่อมตน อย่าเป็นคนดูถูกคนอื่น
9. อย่าด่วนตำหนิคนอื่น
10. พยายามมองหาความดีของเขาหรือเธอ
11. จงให้อภัยและลืมความผิดของคนอื่น
12. เมื่อเราผิดต้องรู้จักยอมรับผิด
13. อย่าเป็นคนที่ชอบการทะเลาะเบาะแว้ง
14. เปลี่ยนจากพูดเชิงบังคับเป็นพูดโน้มน้าวใจแทน
15. คำนึงถึงกาลเทศะในการตักเตือนด้วยทุกครั้ง
16. ระมัดระวังการใช้คำพูดในการแสดงความเห็นเชิงวิจารณ์

2 comments on “ปฏิสัมพันธ์อย่างไรจับใจมวลชน (ฉบับผู้ศรัทธา)

  1. Sah Narisa
    September 19, 2014

    สั่งซื้อได้ที่ไหนคะ อยู่ กทม มีวางขายไหนบ้างคะ

    • Sah Narisa
      September 21, 2014

      หาซื้อได้แล้วค่ะ ที่ฮาลาลเอ็กเพรส มีนบุรี

Leave a comment